วันจันทร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2554

เจ้าที่และพระภูมิ

เจ้าที่และพระภูมิ
Guardian Spirit and Demigod

มาเข้าใจทำความรู้จักกับระดับชั้นของวิญญาณกันก่อน
วิญญาณสัมภเวสีทั่วไป คือ จิตที่ออกมาจากสัตว์ต่างๆเมื่อได้สิ้นชีวิตอายุขัยแล้ว โดยจะดำรงอยู่หรือเปลี่ยนแปลงสภาพภพภูมิไปตามกรรมที่ได้กระทำไว้เมื่อครั้งที่ยังมีชีวิตที่ผ่านมา
เทพระดับต้น คือ จิตของผู้ที่ได้เคยสร้างกรรมดีมีบุญกุศลติดตัวเอาไว้อยู่บ้างแต่ไม่มากนัก
เทพระดับสูง คือ จิตของผู้ที่เคยสร้างสะสมกรรมดีมีบุญบารมีที่สูงพอสมควร ได้พำนักอาศัยในสรวงสวรรค์และมีหน้าที่คอยดูแลช่วยเหลือสรรพสัตว์ มักเป็นที่รู้จักและเคารพสักการะของผู้คนทั่วไป ได้แก่เทพเซียนต่างๆ
เทพเจ้า คือ ผู้ปกครองดูแลเหล่าเทพต่างๆทั้งหลาย ทำหน้าที่สำคัญในอาณาบริเวณหรือทิศทางที่สถิตอยู่
พรหม คือ  จิตของผู้ที่ตั้งมั่นในศีลธรรมและได้สะสมกรรมดีบุญบารมีต่างๆเอาไว้อย่างมากมาย
พระโพธิสัตว์ คือ จิตของผู้ที่ได้สะสมกรรมดีบุญบารมีเอาไว้มากมายมหาศาล มีจิตใจและปัญญาอันละเอียดอ่อนลึกซึ้ง มีโอกาสที่จะได้เป็นพระพุทธเจ้าในลำดับต่อไป
พระพุทธเจ้า คือ จิตของผู้ที่มีจิตใจและปัญญาค้นพบความนิพพานคือการหลุดพ้นแห่งความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงจนหมดสิ้น ละแล้วซึ่งการเวียนว่ายตายเกิด

เจ้าที่และพระภูมิคืออะไร
เจ้าที่ คือ วิญญาณสัมภเวสีทั่วไปที่สถิตอยู่ในสถานที่หรือพื้นที่อาณาเขตบริเวณต่างๆ โดยเจ้าที่ในการดูแลสถานที่นั้นส่วนใหญ่มักเป็นเจ้าที่มาจากศูนย์สวรรค์ที่ได้รับการอบรมและมีกฎระเบียบเพื่อเป็นเจ้าที่โดยเฉพาะ สามารถทำพิธีกรรมอัญเชิญให้มาสถิตได้ มีส่วนน้อยเท่านั้นที่มาจากวิญญาณบรรพบุรุษ หรือวิญญาณสัมภเวสีทั่วไปอื่นๆ  
พระภูมิ คือ เทพระดับต้นที่ได้ถูกพิธีกรรมอัญเชิญมาสถิตอยู่ในสถานที่อาณาเขตบริเวณเพื่อทำหน้าที่ในการดูแลปกป้องคุ้มครองพื้นที่นั้น

ประวิติความเป็นมาของเจ้าที่
เมื่อครั้งพระเจ้าเม่งไท้โจ้วฮ่องเต้ แห่งราชวงศ์หมิง เสด็จออกประพาสตามหัวเมืองต่างๆ เพื่อตรวจดูทุกข์สุขราษฎร ทรงพบขุนนางปกครองท้องถิ่นผู้หนึ่งคุยกันถูกคอ จึงทรงนัดไปเสวยสุราที่โรงเตี๊ยมแห่งหนึ่ง โรงเตี๊ยมวันนั้นคนแน่นมาก พระองค์ทอดพระเนตรเห็นมีโต๊ะตัวหนึ่งเป็นที่ตั้งวางป้ายบูชาเจ้าที่พระองค์จึงทรงหยิบป้ายบูชาเจ้าที่นั้นวางลงบนพื้น แล้วนำโต๊ะตัวนั้นไปใช้ประทับ ภายหลังเสด็จออกจากโรงเตี๊ยมทรงลืมไม่ได้นำป้ายบูชาเจ้าที่ที่วางอยู่บนพื้นกลับไปตั้งวางไว้บนโต๊ะตามเดิม เจ้าของโรงเตี๊ยมเห็นเข้าจึงนำป้ายบูชานั้นกลับไปวางบนโต๊ะตามเดิม คืนนั้นเจ้าที่ได้ไปเข้าฝันเจ้าของโรงเตี๊ยมว่า "พระเจ้าแผ่นดินให้ข้าอยู่บนพื้น ไม่ให้อยู่ที่สูง เจ้าจงนำข้ากลับไปไว้บนพื้นดินเช่นเดิม" ตั้งแต่นั้นมาผู้คนจึงนิยมตั้งเจ้าที่ให้ติดพื้นดิน
ประวิติความเป็นมาของพระภูมิ
พระภูมินั้นเป็นโอรสของพระเจ้าพาลีนามท้าวทศราช และมเหสีนามว่าสันทาทุก ซึ่งมีพระราชโอรสทั้งหมด ๙ พระองค์ แต่ละพระองค์ทรงมีฤทธิ์มาก มีปรีชาสามารถรอบรู้สิ่งต่างๆ โดยไม่มีใครเลื่อมล้ำต่ำกว่าใคร เมื่อพระโอรสเจริญพระชันษาพระราชาทศราชกับพระนางสันทาทุกก็ปรึกษาหารือกัน จนตกลงกันว่าจะมอบหน้าที่ให้โอรสแต่ละพระองค์ไปทำหน้าที่ปกครองเขตต่างๆ ซึ่งได้แก่
พระชัยมงคล  เป็นพระภูมิมีหน้าที่ดูแลสถานบ้านเรือน และโรงร้าน
พระนครราช   เป็นพระภูมิมีหน้าที่ดูแลประตู บันได ป้อมค่าย หอรบ
พระคนธรรพ์  เป็นพระภูมิมีหน้าที่ดูแลเรือนหอบ่าวสาวและการแต่งงาน
พระเทเพลหรือพระการทรพน เป็นพระภูมิมีหน้าที่ดูแลคอกสัตว์ต่างๆ
พระชัยสพหรือพระชัยกัสสปะ เป็นพระภูมิมีหน้าที่ดูแลยุ้งฉาง เสบียงคลัง
พระธรรมโหรา เป็นพระภูมิมีหน้าที่ดูแลสวน ไร่ นา ที่ดิน
พระวัยทัตหรือพระทาสธารา เป็นพระภูมิมีหน้าดูแลวัดวาอาราม ปูชนียสถาน
พระธรรมมิกราชหรือพระทันธิราช เป็นพระภูมิมีหน้าที่ดูแลพืชพันธุ์ธัญญาหาร
พระชัยมงกุฎ เป็นพระภูมิมีหน้าที่ดูแลห้วย หนอง คลอง บึง แม่น้ำลำธาร

ประเภทของเจ้าที่และพระภูมิ
1.เจ้าที่และพระภูมิประจำบ้านเรือนสถานที่ทั่วไป คือ เจ้าที่และพระภูมิที่สถิตอยู่ภายในบริเวณที่อยู่อาศัยของบ้านพักประชาชนบุคคลทั่วไปรวมทั้งห้างร้านต่างๆ มีบทบาทสำคัญและมีอิทธิพลกับผู้คนที่อยู่อาศัยในสถานที่เหล่านั้น
2.เจ้าที่และพระภูมิประจำศาลเจ้าหรือวัดวาอารามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ คือ เจ้าที่และพระภูมิที่ดูแลสถิตอยู่ในบริเวณศาลเจ้าหรือสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ซึ่งจะมีบทบาทน้อยเพราะในสถานที่เหล่านี้ผู้คนมักให้ความสำคัญกับเทพเซียน เช่น เจ้าพ่อ เจ้าแม่ ต่างๆ รวมไปถึงพระสงฆ์องค์เจ้าทั้งหลายมากกว่า แต่จะอยู่ในกฎระเบียบที่เคร่งครัดมากกว่าเพราะต้องอยู่ในสายตาของผู้ที่ระดับสูงกว่า แต่ก็จะได้รับการแบ่งเครื่องบูชาที่มีผู้คนมาสักการะอย่างมิขาด หากทำดีมีผลงานก็จะได้เลื่อนขั้นเร็วแต่ถ้าทำไม่ดีจะถูกลงโทษได้ง่าย
3.เจ้าที่และพระภูมิประจำสถานที่ราชการ   คือ เจ้าที่และพระภูมิที่คอยดูแลปกปักรักษาสถานที่ราชการ จะมีตำแหน่งและอำนาจค่อนข้างมากเพราะเป็นผู้ที่ดูแลสมบัติของแผ่นดิน

หน้าที่ของเจ้าที่และพระภูมิ
1.ช่วยให้สมาชิกทุกคนมีความสมัครสมานสามัคคี รักใคร่ปรองดอง และอยู่ด้วยกันอย่างร่มเย็นเป็นสุข
2.ปกป้องทรัพย์สินให้พ้นจากภัยพิบัติต่างๆ
3.ช่วยหารายได้ให้พอกินพอใช้ตามฐานะไม่ขาดแคลน ส่วนจะเหลือกินเหลือเก็บหรือไม่ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมวาสนาของผู้อาศัย

เรือนที่อยู่และตำแหน่งที่ตั้งของเจ้าที่และพระภูมิ
เนื่องจากเป็นการยากที่บุคคลทั่วไปไม่มีสมาธิจิต ไม่มีวิชา หรือไม่สามารถสื่อหยั่งรู้ได้ว่าเจ้าที่พระภูมิอยู่ที่ใด การจัดตั้งศาลเจ้าที่และพระภูมินั้นเป็นกุศโลบาย เพื่อให้เจ้าที่พระภูมิสถิตอยู่เป็นกิจจะลักษณะ มาสถิตที่ศาลที่ได้จัดทำขึ้นเป็นหลัก เพื่อที่จะได้เตรียมเครื่องบูชาสักการะได้เป็นหลักแหล่ง และสื่อสารแจ้งกับเจ้าที่พระภูมิได้โดยตรงชัดเจนมากขึ้น วัสดุที่ใช้ทำเป็นศาลนั้น โดยทั่วไปนิยมทำด้วยไม้ ด้วยโบราณสร้างบ้านเรือนด้วยไม้ แต่ปัจจุบันก็มีศาลหลากหลายรูปแบบมากขึ้น เช่น ศาลที่ทำด้วยหิน หินอ่อน ด้วยความเชื่อที่ว่าเจ้าที่พระภูมิอยู่กับพื้นดิน ปกปักรักษาที่ดิน จึงเลือกวัสดุที่เป็นธาตุดิน เพื่อให้ดูสวยงาม มั่นคง แข็งแรง ส่วนการที่ศาลเจ้าทั่วไปส่วนใหญ่มีสีแดงนั้น เป็นสีแห่งความเป็นมงคล อีกทั้งตามตำราฮวงจุ้ยเชื่อกันว่าเจ้าที่แทนถึงพลังงานธาตุไฟจึงได้จัดทำศาลเจ้าเป็นสีแดง ส่วนการที่ผู้อยู่อาศัยจะจัดตั้งศาลเจ้าที่หรือพระภูมิแบบไหนอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับกำลังทรัพย์และความสะดวกมากกว่าไม่มีการกำหนดตายตัว
การจัดตั้งของศาลเจ้าที่และพระภูมินั้นควรพิจารณาถึงพื้นที่และความเหมาะสมหากผู้อาศัยไม่มีความรู้มากพอควรที่จะปรึกษาซินแสหรือผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ แต่โดยทั่วไปนั้นจะตั้งอยู่บนพื้นดิน ซึ่งศาลเจ้าที่มักจะตั้งอยู่ภายในสถานที่บ้านเรือน โดยหันหน้าออกไปทางด้านหน้าตรงกับประตูที่มีผู้คนเข้าออกจะเป็นการดีที่สุด เพราะจะช่วยดูแลการเข้าออกของผู้คน ป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากภัยของคนภายในและภายนอกด้วย ส่วนการตั้งพระภูมินั้นจะตั้งห่างออกมาอยู่ภายนอกอาคารบ้านเรือน แต่ควรหลีกเลี่ยงการจัดตั้งเจ้าที่พระภูมิใกล้กับสิ่งเหล่านี้ คือ บันได ห้องน้ำ ที่ทิ้งขยะ ที่สูง หรือตั้งศาลที่ลึกห่างไกลเกินไป ส่วนการที่จะตั้งใกล้กับพระพุทธรูปหรือสิ่งศักดิสิทธิ์นั้นไม่ขอแนะนำ เพราะจะทำให้เจ้าที่และพระภูมิรู้สึกอึดอัดที่ต้องอยู่ใกล้ผู้ใหญ่จนเกินไป หากไม่จำกัดพื้นที่มากนักควรแยกห่างออกมาจะดีกว่า

         
กายจำลองของเจ้าที่และพระภูมิ
นอกจากศาลเจ้าที่เปรียบเสมือนเรือนที่อยู่แล้ว ยังมีกายจำลองเพื่อใช้เป็นตัวแทนของเจ้าที่พระภูมิสำหรับให้ผู้อยู่อาศัยได้ระลึกถึงและสื่อสาร ซึ่งกายจำลองนี้มักทำเป็นรูปผู้เฒ่าถือไม้เท้า มีทั้งชายและหญิง บางแห่งก็จัดตั้งไว้คู่กัน กายจำลองนี้มีก็ดีไม่มีก็ได้ เพราะใช้กระดาษแดงหรือผ้าแดงเขียนคำว่าเจ้า ติดไว้ที่ศาลก็ได้เช่นกัน ปัจจุบันศาลเจ้าที่มักเขียนคำว่าอักษรคำว่าเจ้าอยู่ที่กลางศาลอยู่แล้ว ก็ให้เชิญเจ้าที่และแจ้งให้ทราบว่าศาลนี้คือเรือนของท่าน เปรียบเสมือนผู้อาศัยได้ยกพื้นที่นี้ให้ท่านสถิต ในกรณีที่ไม่ทราบว่าเจ้าที่นั้นเป็นชายหรือหญิง (เจ้าที่ชายตี่จู้เอี๊ยกงหรือแปะกง เจ้าที่หญิงตี่จู้เอี๊ยม่าหรือแปะม่า) แม้ผู้อาศัยจะตั้งกายจำลองที่ไม่ถูกว่าเป็นชายหรือหญิงท่านก็ไม่ถือสา ส่วนกายจำลองของพระภูมินั้นเรียกว่า เจว็ด เป็นปูนปั้น โลหะ หรือไม้ที่สลักทำขึ้นมีลวดลายของพระภูมิ โดยจะตั้งไว้อยู่กึ่งกลางของศาลเช่นกัน
                          
กระธางธูปมงคลสำหรับเจ้าที่และพระภูมิ
กระธางธูปก็เป็นสิ่งสำคัญมากอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องตั้งในศาล โดยจะเลือกใช้วัสดุและขนาดของกระธางนั้นขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของขนาดของศาลรวมถึงความชอบพร้อมกำลังทรัพย์ผู้อยู่อาศัยด้วย
ส่วนประกอบของกระธางธูปมงคล         
ข้าวเปลือก เมล็ดถั่วเขียว เมล็ดข้าวสีแดง ถั่วแดง ถั่วเหลือง หมายถึงความเจริญงอกงาม ความเป็นมงคล
ผลลำไยแห้ง หมายถึงความเจริญด้วยยศ
เมล็ดสาคู หมายถึงความรุ่งเรือง เฟื่องฟู
ลูกแก้วที่เป็นหินธรรมชาติ หมายถึงความรุ่งเรืองสดใส 
แหวนเงิน แหวนทอง หมายถึงการได้รับสิ่งที่มีค่า 
เหรียญเงิน เหรียญกษาปณ์ ที่ใช้จ่ายในปัจจุบัน ถ้าค้าขายต่างประเทศจะใส่เงินตราต่างประเทศด้วยก็ได้ หมายถึงการเงินรายได้ มีทรัพย์สิน
แป้งหอม หมายถึงมีชื่อเสียงหอมกระจาย
กำไลเงินหรือทอง หมายถึงการมีกำไร
กิมฮวยหรือหางนกยูง 1 คู่ หมายถึงความสวยสดงดงาม
ผ้าสีแดงหรือกระดาษแดง สำหรับทำเป็นสัญลักษณ์หน้าหลัง
วิธีการทำกระธางธูปมงคล
1.ทำความสะอาดกระธางให้เรียบร้อย ทำเครื่องหมายให้ทราบก่อนว่าด้านไหนเป็นด้านหน้าของกระถางโดยติดกระดาษแดงหรือผูกผ้าแดงเอาไว้
2.ใส่แหวนเงินแหวนทองลงไป
3.นำลูกแก้ววางบนแหวนเงินแวนทอง
4.โปรยเหรียญลงในกระธางโดยให้โรยเวียนขวาตามเข็มนาฬิกา
5.โรยเมล็ดพืชต่างๆ รวมทั้งผลลำไยแห้งกับเมล็ดสาคู จนได้ความสูงประมาณครึ่งหนึ่งของกระธาง
6.วางกำไลลงบนเมล็ดพืช
7.โรยแป้งหอมจนทั่วกระธางธูปให้สูงตามความต้องการ
ระหว่างที่ทำพิธีดังกล่าวให้มีสมาธิ คิดถึงความเป็นมงคลสิ่งที่ดีๆต่างๆ การทำกระถางธูปนี้สามารถทำได้ด้วยตนเองหรือจะให้ผู้ที่นับถือทำให้ก็ได้

การบูชาและเครื่องสักการะของเจ้าที่และพระภูมิ
ความรู้เกี่ยวกับเครื่องสักการะและวิธีการบูชาเจ้าที่
1.การจุดธูปไหว้เจ้าที่นั้นจะจุดธูป 5 ดอก เพราะมีความเชื่อกันว่าเจ้าที่กำเนิดมาจากพี่น้อง 5 องค์ อีกทั้งสอดคล้องกับธาตุทั้ง 5 ของจีน คือ ดิน น้ำ ทอง ไม้ ไฟ
2.ในแต่ละวันควรจะไหว้เจ้าที่ด้วยการถวายน้ำหรือน้ำชา  5 ถ้วยเป็นอย่างน้อย
3.ในแต่ละเดือนควรจะไหว้เจ้าที่ด้วยอาหารคาวหวาน เช่น ผลไม้ต่างๆ เนื้อสัตว์ และกระดาษเงินกระดาษทองจำนวน 12 แผ่น อย่างน้อย 1 ครั้งต่อเดือน โดยจะเป็นในวันขึ้น 1 ค่ำและขึ้น 15 ค่ำของทุกเดือนก็ได้
4.ในแต่ละปีช่วงเทศกาลตรุษจีนและสาร์ทจีน ควรจะไหว้เจ้าที่ด้วยอาหารคาวหวานต่างๆ พร้อมกระดาษเงินกระดาษทองได้มากมายตามที่ต้องการ
5.ทุกครั้งที่ถวายอาหารเครื่องสักการะเจ้าที่เมื่อธูปหมดไปอย่างน้อยเกินครึ่งดอกแล้ว สามารถลากระดาษเงินกระดาษทองไปเผาอุทิศได้ จากนั้นค่อยลาของไหว้อื่นๆตามลำดับ
6.หากผู้อยู่อาศัยละเลยไม่สนใจการไหว้และถวายเครื่องสักการะแก่เจ้าที่เป็นประจำ เมื่อถึงเวลาที่เจ้าที่จะรายงานต่อศูนย์สวรรค์นั้น เจ้าที่สามารถแจ้งการขอพิจารณาย้ายไปอยู่ที่อื่นได้
ความรู้เกี่ยวกับเครื่องสักการะและวิธีการบูชาพระภูมิ
1.การจุดธูปไหว้พระภูมินั้นจะจุดธูป ๙ ดอก เพราะพระภูมิมาจากพี่น้อง ๙ องค์
2.ในแต่ละวันควรจะถวายน้ำหรือน้ำชาแก่พระภูมิเป็นอย่างน้อย
3.ทุกครั้งที่ถวายเครื่องสักการะแก่พระภูมิควรเอ่ยชื่อเรียกบริวารของพระภูมิด้วย คือ นายจันทร์ นายทิศ นายอาจเสน หรือเรียกง่ายๆว่า นายหลวง นายขุน นายหมื่น ให้มารับเครื่องสักการะเซ่นไหว้
4.การถวายอาหารและเครื่องสักการะแก่พระภูมินั้นจะเปลี่ยนแปลงแตกต่างกันไปในแต่ละเดือน โดยมีรายละเอียดดังนี้
เดือนเมษายนและพฤษภาคม  เจ้ากรุงพาลีแปลงเป็นยักษ์ การจัดถวายเครื่องสักการะในเดือนนี้จะต้องมีเนื้อสัตว์ต่างๆ กุ้ง ปลา เหล้าสุรา
เดือนมิถุนายนและกรกฎาคม  เจ้ากรุงพาลีแปลงเป็นพรามณ์ การจัดถวายเครื่องสักการะในเดือนนี้จะต้องเป็นมังสวิรัติ ผัก ผลไม้ งดเนื้อสัตว์และอาหารคาวทุกชนิด
เดือนสิงหาคมและกันยายน เจ้ากรุงพาลีแปลงเป็นราชสีห์ การถวายเครื่องสักการะในเดือนนี้จะต้องเป็นเนื้อสัตว์ ของสดของคาวต่างๆ
เดือนตุลาคมและพฤศจิกายน  เจ้ากรุงพาลีแปลงเป็นช้าง การถวายเครื่องสักการะในเดือนนี้จะต้องเป็นหญ้าแพรก หญ้าปล้อง กล้วย อ้อย ผลไม้ต่างๆ งดเนื้อสัตว์และอาหารคาวทุกชนิด
เดือนธันวาคมและมกราคม เจ้ากรุงพาลีแปลงเป็นนาคราช การถวายเครื่องสักการะในเดือนนี้จะต้องเป็นอาหารคาวหวานต่างๆ
เดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม  เจ้ากรุงพาลีแปลงเป็นครุฑ การถวายเครื่องสักการะในเดือนนี้จะต้องเป็นเนื้อสัตว์ต่างๆ ของสดของคาว กุ้ง ปลา
ซึ่งในแต่ละเดือนนั้นควรที่จะถวายเครื่องสักการะแก่พระภูมิอย่างน้อยเดือนละ 1-2 ครั้ง
5.ในแต่ละปีอย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง ควรที่จะจัดเครื่องบูชาสักการะถวายพระภูมิด้วยอาหารคาวหวานต่างๆชุดใหญ่
6.ควรจะลาเครื่องสักการะของไหว้ต่างๆเมื่อธูปใกล้จะหมดดอก ไม่ควรปล่อยให้ธูปดับแล้วค่อยลา เพราะเป็นเคล็ดของการเหลือกินเหลือใช้
7.หากผู้อยู่อาศัยละเลยไม่สนใจไหว้เคารพและไม่ถวายเครื่องสักการะบูชาพระภูมิเป็นประจำ จะทำให้พระภูมิสามารถละทิ้งศาลออกไปได้
ผลไม้ที่ห้ามถวายแก่เจ้าที่และพระภูมิ
1.ละมุด 2.มังคุด 3.พุทธา 4.มะเฟือง 5.มะไฟ 6.น้อยหน่า 7.น้อยโหน่ง 8.มะตูม 9.มะขวิด 10.ลูกจาก 11.ลูกพลับ 12.ลูกท้อ 13.ระกำ 14.กระท้อน 15.ลางสาด
คำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับเจ้าที่และพระภูมิ
1.สามารถที่จะเลือกตั้งศาลเพียงชนิดใดชนิดหนึ่งก็ได้ในที่พักอาศัยหรือพื้นที่อาณาเขตบริเวณของตน ไม่จำเป็นที่จะต้องมีการตั้งศาลอื่นๆเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความพร้อม กำลังทรัพย์ของผู้อาศัย รวมทั้งพื้นที่ความสะดวกในการจัดตั้งศาลด้วย
2.ห้ามไม่ให้พระภิกษุสงฆ์ทำพิธีการตั้งศาลโดยเด็ดขาด เพราะพระภิกษุสงฆ์เป็นผู้ที่มีศีลมากกว่าไม่เหมาะสมแก่การทำพิธีตั้งศาล สามารถนิมนต์เชิญมาทำบุญบ้านหรือสวดมนต์ในระหว่างการทำพิธีตั้งศาลได้เท่านั้น ควรให้ซินแสหรือผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ทำพิธีกรรมตั้งศาลจะดีกว่า  

*หากท่านใดมีข้อสงสัยเพิ่มเติมหรือสอบถามการตั้งศาลหรือรื้อถอนศาลเจ้าที่และพระภูมิ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ ราชัย 085-9610905 หรือ wizardhoro@hotmail.com 



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น