วันพฤหัสบดีที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ดาวซิงและเพนดูลัม

Dowsing and Pendulum

ดาวซิง คือ อุปกรณ์ชนิดหนึ่ง อาจทำมาจากกิ่งไม้ ลวด โลหะ ที่เป็นรูปตัวที T หรือตัวแอล L ใช้สำหรับตรวจจับคาดการณ์ค้นหาวัตุหรือสิ่งที่ต้องการค้นหาในดิน เช่น โลหะ ทางน้ำ ทางเดินท่อ เมื่อดาวซิ่งตรวจจับได้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง เช่น สั่น ไขว้เข้าหากัน หรือแยกออก ชี้ทิศทาง เป็นต้น ซึ่งวิธีการใช้จะนำสองมือจับดาวซิ่งให้ขนานกับพื้น ค่อยๆเดินสำรวจจุดที่ต้องการค้นหา
เพนดูลัม คือ อุปกรณ์ชนิดหนึ่ง ที่มีลักษณะเป็นลูกตุ้ม วัสดุมีหลากหลายประเภทและหลากหลายรูปทรง ไม่ว่าจะเป็นตุ้มเพนดูลั่มหรือสายร้อยก็ตาม เช่น โลหะ หินแร่ เป็นต้น สามารถใช้งานได้หลากหลาย เช่น ตรวจจับค้นหาวัตุสิ่งของ ตรวจจับพลังงาน หรือแม้แต่ใช้ในการพยากรณ์ โดยจะสังเกตการแกว่ง หรือทิศทางของเพนดูลั่มที่เกิดขึ้น 

ประวัติการกำเนิดที่มา
ไม่ทราบข้อมูลเป็นที่แน่ชัด แต่คาดการณ์ว่ามีมาตั้งแต่สมัยยุคโบราณเป็นพันปี โดยที่สังคมสมัยนั้นจะนิยมใช้งานไปในทางค้นหาสินทรัพย์ หรือทางน้ำ ที่อยู่ในดิน แต่ก็มีเบาะแสการค้นพบที่มาอันได้แก่ ได้ค้นพบภาพที่มีอายุเก่าแก่กว่า 6,000 ปี เป็นรูปคนกำลังใช้เพนดูลัม บนฝาผนังถ้ำทัสซิลิ (Tassili) บนถูเขาที่อยู่ทางตอนใต้ของประเทศแอลจีเรีย ทวีปแอฟริกา หรือตำนานของโมเสสที่อพยพผู้คนไปตั้งถิ่นฐานใหม่ ระหว่างเดินทางกลางทะเลทรายที่ร้อนระอุ ไม่มีต้นไม้และแหล่งน้ำ โมเสสแก้ปัญหาด้วยการนำท่อนไม้ยาวสำรวจพบว่า หินขนาดใหญ่ก้อนหนึ่งทำให้ไม้ที่ถืออยู่สั่นผิดปรกติจึงเชื่อว่าน่าจะมีน้ำ พอลองย้ายหินออกปรากฎว่ามีน้ำเกิดขึ้นจริงๆ หรือตำนานอีกเรื่องหนึ่ง ราว 2200 ปีก่อนคริสตกาล เป็นที่ทราบกันว่าจักรพรรดิหยู (Emperor Yu) เป็นนักพยากรณ์ และ นักสำรวจ พระองค์นำพาขบวนเรือไปจนถึงชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกา และ เม็กซิโก และ ได้ตราข้อห้ามการสร้างบ้านเรือนในบริเวณที่เรียกว่า Geopathic Zone หรือ เขตอันตรายทางธรณี ซึ่งมาจากการพยากรณ์ของพระองค์เอง หลังจากนั้น มาร์โคโปโล นักเดินทางที่มีชื่อเสียงได้เดินทางไปประเทศจีนในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1271-1295 และ ได้รู้จักเพนดูลัม ไม้ร็อด และเข็มทิศ จากที่นั่น

เพนดูลัมเพื่อการพยากรณ์
เนื้อหาต่อจากนี้จะกล่าวถึงเพนดูลั่มเพื่อการใช้งานในเรื่องของการพยากรณ์ทุกรายละเอียดตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อให้ผู้สนใจได้นำไปทดลองปฎิบัติใช้งานกับเพนดูลั่มของตนเองต่อไป
การทำงานของเพนดูลัม การพยากรณ์โดยใช้เพนดูลัมเป็นอุปกรณ์นั้น เป็นการพยากรณ์ในรูปแบบของการเสี่ยงทาย เหมาะสำหรับคำถามในรูปแบบปิดและระยะเวลาคำถามในระยะสั้นอันใกล้ เช่น คำถามใช่หรือไม่ หรือคำถามที่อยู่ในช่วงระยะเวลาไม่นานนัก การที่เพนดูลัมเกิดปฎิกิริยาจนสามารถมีการแกว่ง หมุน ชี้นำ หรือหยุดนิ่งนั้น เกิดจากพลังงานหลายสาเหตุที่มากระทบสัมผัสกับเพนดูลัมดังนี้
1.พลังจิตใต้สำนึก ในมนุษย์ทุกคนจะมีพลังชีวิต พลังจิตสมาธิอยู่ที่ตนเอง พลังเหล่านี้ก็เป็นพลังงานรูปแบบหนึ่งที่เป็นสิ่งบ่งบอกปฎิกิริยาหรือความรู้สึกบางอย่างให้ตนเองนั้นรู้สึกหรือสัมผัสได้
2.พลังธรรมชาติ ในธรรมชาติจักรวาลอันกว้างใหญ่ไพศาล ทุกๆสิ่งที่จะมีพลังงานที่คอยดึงดูดและผลักดันสิ่งกันและกันอยู่ แน่นอนว่าเราเป็นเพียงสิ่งเล็กๆในโลกใบนี้ย่อมได้รับพลังงานจากธรรมชาติไปด้วย
3.พลังงานอื่นๆ ในบางครั้งเมื่อเราอยู่ในสถานที่แวดล้อมที่มีความเข้มข้นของพลังงานบางอย่างที่สูง ก็ย่อมสามารถส่งผลกระทบต่อเพนดูลัมได้ เช่น สถานที่มีหินแร่ธาตุอยู่มาก แรงแม่เหล็ก พลังงานไฟฟ้า คลื่นลม ฯลฯ

วัสดุและรูปทรงของเพนดูลัม
วัตถุที่สามารถนำมาใช้งานเป็นเพนดูลัมได้นั้น มีหลากหลายอย่าง หลายขนาด และหลากหลายรูปทรง ซึ่งแบ่งประเภทได้หลักๆคือ 
1. วัตถุที่เป็นโลหะ เช่น ทอง เงิน ทองเหลือง เหล็ก ฯ
2.วัตถุที่เป็นหินแร่และอัญมณี เช่น หยก เพชร ทับทิม คริสตัล มรกต มูนสโตน ฯ
3.วัตถุจากธรรมชาติ เช่น ไม้ หิน เปลือกหอย ดินที่นำมาปั้น ฯ
4.วัสดุอื่นๆ เช่น เพนดูลัมที่ดัดแปลงทำขึ้นหรือประยุกต์ใช้จากสิ่งอื่น เช่น มวลสารหรือของที่มีพลังศักดิ์สิทธิ์ 
รูปร่างหลักๆโดยทั่วไปของเพนดูลั่มนั้นจะมีสามแบบคือ แบบทรงกลม แบบทรงเรียวยาว และแบบปลายแหลม ซึ่งวัสดุที่จะนำมาใช้เป็นสายคล้องเพนดูลัมนั้นจะเป็นอะไรก็ได้ เช่น เชือก ป่าน สร้อย โดยให้มีขนาดและความยาวที่พอเหมาะพอดี

การค้นหาเพนดูลัมของตนเอง
1.ลองพิจารณาและศึกษาวัตถุต่างๆที่ตนสนใจและชอบที่จะนำมาเป็นเพนดูลัม สามารถหาซื้อเพนดูลัมได้ตามร้านค้าทั่วไป เช่น ท่าพระจันทร์ ตลาดจตุจักร
2.เมื่อเจอกับเพนดูลัมที่ตนสนใจให้ทดสอบการโต้ตอบความเข้ากันได้ของเรากับเพนดูลัม จำไว้ว่าเราไม่ใช่คนเลือกเพนดูลัมแต่เพนดูลัมต่างหากที่เลือกเรา โดยให้ทดลองใช้แล้วทดสอบคำถามง่ายๆกับเพนดูลัม ถ้าหากเพนดูลัมมีปฎิกิริยาขยับโต้ตอบก็สามารถใช้งานได้ แต่ถ้าไม่มีปฎิกิริยาขยับโต้ตอบเลยให้ลองดูใหม่อีก 1-2 ครั้ง ถ้าไม่เป็นผลให้เปลี่ยนอันใหม่
3.ตรวจสอบดูความเรียบร้อยของเพนดูลัม ว่ามีตำหนิชำรุดตรงไหนหรือไม่

วิธีการฝึกและพยากรณ์ด้วยเพนดูลัม
1.เมื่อมีเพนดูลัมของตนเป็นที่เรียบร้อยแล้วให้ทำการชำระล้าง โดยนำไปล้างกับน้ำสะอาดแล้วเช็ดให้แห้ง ควรหมั่นชำระล้างเพนดูลัมอยู่เป็นระยะ หลังใช้งานแล้วให้เก็บเป็นที่เรียบร้อยเหมาะสม
2.หากต้องการเริ่มต้นจะพยากรณ์ด้วยเพนดูลัมควรทำจิตสมาธิให้สงบ ผ่อนคลาย ควรเลือกสถานที่มีความสงบเงียบ ไม่ควรมีเสียงดัง มีการสั่นไหว หรือลมแรง
3.จับสายเพนดูลัมให้กระชับด้วยนิ้วชี้กับนิ้วโป้งให้มีความยาวของสายพอดีประมาณหนึ่งคืบ ส่วนสายที่ยาวเหลือให้กำไว้ในอุ้งมือทั้งหมด
4.จะใช้มือใดจับก็ได้ ขอให้เป็นข้างที่ถนัด ถือไว้นานแล้วไม่เมื่อยล้า เพราะต้องถือไว้ไม่ให้ถูกพื้น
5.สามารถฝึกได้โดยการคว่ำหน้าไพ่เอาไว้ 2-3ใบ สลับไพ่แล้วลองใช้เพนดูลัมหาไพ่ที่ตนต้องการ หรือนำวัตถุบางอย่างใส่ไว้ในถ้วยที่ทึบใบใดใบหนึ่งแล้วลองใช้เพนดูลัมหาถ้วยที่ตนต้องการ หรือทำการทดสอบคำถามง่ายๆเพื่อทดสอบความถูกต้อง
6.จดจำและสังเกตทิศทางปฎิกิริยาของเพนดูลัม โดยหลักๆแล้ว เพนดูลัมจะมีปฎิกิริยาโต้ตอบเหล่านี้ คือ หมุนวน แกว่งไปทางซ้ายขวา แกว่งขึ้นลง แกว่งเฉียง และหยุดนิ่ง
7.ลองทดสอบออกคำสั่งกับเพนดูลัมกับการฝึกฝนและพยากรณ์ โดยลองออกคำสั่งตั้งสมาธิตกลงกับเพนดูลัมบางอย่างเพื่อดูการโต้ตอบ เช่น ถามว่า ไพ่สามใบนี้ใบไหนเป็นรูปดาวขอให้เพนดูลัมจงหมุนเป็นวงกลม หรือ สิ่งที่อยู่ในกล่องนี้คือขนมใช่หรือไม่ ถ้าใช่จงแกว่งขึ้นลง เป็นต้น
8.หากต้องการที่จะพยากรณ์ตนเองหรือผู้อื่น ให้แบมือข้างใดข้างหนึ่งออกมา แล้วถือเพนดูลัมอยู่บนเหนือฝ่ามือ จากนั้นจึงตั้งสมาธิถามในคำถามที่ต้องการทราบ 
9.หมั่นทดสอบและฝึกฝนอยู่เสมอเป็นประจำ เพราะจะทำให้เราและเพนดูลัมเกิดการคุ้นเคยมากขึ้น
10.เมื่อเกิดความมั่นใจแล้ว ก็จงลองไปใช้ในการพยากรณ์ตอบคำถามที่เป็นจริงเป็นจังมากขึ้น โดยสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการถามสิ่งต่างๆ แล้วแต่ความสนใจของตนต่อไป  
         


1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ18 กันยายน 2563 เวลา 13:05

    อ่านยากมากค่ะอีสัส สีอักษร​แสบตาชิบหาย

    ตอบลบ