วันเสาร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

การแก้กรรมคุณทำได้


การแก้กรรมคุณทำได้
You can solve karma

กรรม คือ ผลที่ได้รับมาจากความคิด วาจาคำพูด และการกระทำของตนอันประกอบด้วยเจตนาโดยมุ่งหมายไปที่บุคคล สัตว์ สิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือแม้กระทั่งตนเอง  ซึ่งกรรมจากความคิดเรียกว่า มโนกรรม กรรมจากวาจาคำพูดเรียกว่า วจีกรรม และกรรมที่มาจากการกระทำเรียกว่า กายกรรม
ลักษณะของกรรม
กรรมที่มาจากสิ่งที่ดีหรือส่งผลในด้านที่ดี เรียกว่า กุศลกรรม
เช่น การไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต การคืนของที่ผู้อื่นทำตกไว้ การรักเดียวใจเดียวในคู่ครอง การมีความซื่อสัตย์ยุติธรรม การละเว้นไม่ดื่มสุราไม่ข้องเกี่ยวยาเสพติด การมีจิตเมตตา การบริจาคให้ทาน การสวดมนต์ไหว้พระ การทำสมาธิ ฯลฯ เป็นต้น
สิ่งที่ได้จากกรรมต่างๆเหล่านี้ ย่อมส่งผลให้มีแต่ความสุขความเจริญทั้งกายและใจ พบเจอแต่สิ่งที่ดีทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
กรรมมาจากสิ่งที่ไม่ดีหรือส่งผลในด้านร้าย เรียกว่า อกุศลกรรม หรือ วิบากกรรม
เช่น การฆ่าและทำร้ายสิ่งมีชีวิต การลักขโมย การคบชู้นอกใจคนรัก การโกหกหลอกลวง การดื่มสุราติดสิ่งเสพติด การมีจิตใจอาฆาตพยาบาท การลุ่มหลงเชื่อแต่ในสิ่งผิด การเป็นผู้ตระหนี่ถี่เหนียว ฯลฯ
สิ่งที่ได้จากกรรมต่างๆเหล่านี้ ย่อมส่งผลให้มีแต่ความลำบากและความทุกข์ทั้งกายและใจ พบเจอแต่ปัญหาอุปสรรคความเลวร้ายทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
ลักษณะของกรรม
กรรมเก่าหรือกรรมในอดีตชาติ คือผลกรรมอันสืบเนื่องติดตัวมาจากการที่เรานั้นเคยกำเนิดใช้ชีวิตในชาติภพต่างๆที่เป็นอดีตมาก่อน ได้ตามมาส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ในชาติภพกำเนิดปัจจุบัน ทำให้เกิดความแตกต่างของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายตามแต่กรรมที่ทำมา เช่น การเกิดเป็นมนุษย์หรือสัตว์ การมีฐานะดีหรือยากจน การประสบความสุขหรือลำบาก เป็นต้น ผลของกรรมในส่วนนี้จะส่งผลในชาติปัจจุบันและชาติภพใหม่ต่อไปจนกว่าจะหมดกรรม ซึ่งเป็นการยากที่จะรับรู้หรือกลับไปแก้ไขกรรมในส่วนนี้ได้เพราะเป็นเรื่องเก่าหรืออดีตที่ผ่านมาแล้ว
กรรมใหม่หรือกรรมในปัจจุบันชาติ   คือผลกรรมที่เกิดขึ้นจากตนเองขณะที่ดำรงชีวิตอยู่ในปัจจุบันตั้งแต่เกิดจนตาย เมื่อใดที่สร้างกรรมใหม่ขึ้นมา จะได้รับผลของกรรมในขณะมีชีวิตอยู่หรือส่งผลให้ชาติภพของตนต่อๆไปในอนาคตก็ได้ ซึ่งชาติปัจจุบันถือว่าเป็นช่วงเวลาสำคัญของตนในการเลือกเส้นทางชะตากรรม รวมไปถึงการปรับปรุงแก้ไขสร้างสิ่งที่ดีให้กับตนเองได้ตามต้องการ
ระยะเวลาของกรรมที่ส่งผล มีดังนี้
ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม กรรมที่ให้ผลในปัจจุบัน ในชาติปัจจุบัน
อุปปัชชเวทนียกรรม กรรมที่ให้ผลในชาติหน้าหรือชาติที่ถัดไปจากชาตินี้
อปราปรเวทนียกรรม กรรมที่ให้ผลในชาติต่อ ๆ ไป
อโหสิกรรม กรรมที่ให้ผลเสร็จแล้ว หรือกรรมไม่มีผล


หน้าที่ของกรรม

ชนกกรรม หมายถึง กรรมที่เป็นตัวนำไปเกิด กรรมแต่งให้เกิด
อุปัตถัมภกกรรม หมายถึง กรรมสนับสนุน กรรมที่ช่วยเพิ่มเติมให้เกิดผลมากยิ่งขึ้น
อุปปีฬิกกรรม หมายถึง กรรมที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือบรรเทาลงไป
อุปฆาตกกรรม หมายถึง กรรมตัดรอน กรรมที่มีผลทำให้เกิดการยุติสิ้นสุด

ลำดับการส่งผลของกรรม
ครุกกรรม   หมายถึง กรรมที่เกิดจากเจตนาหรือความตั้งใจอย่างแรงกล้า กรรมหนักหรือกรรมจำนวนมาก เป็นกรรมที่ให้ผลก่อน
พหุลกรรม หรือ อาจิณกรรม หมายถึง กรรมที่ทำเป็นประจำ กรรมที่ทำจนเคยชิน กรรมที่สะสมเอาไว้
อาสันนกรรม หมายถึง กรรมที่ได้กระทำหรือนึกถึงระลึกได้ก่อนตาย
กตัตตากรรม หมายถึง กรรมที่ทำโดยไม่ตั้งใจหรือไม่เต็มใจ กรรมที่สักแต่ว่าทำ กรรมที่ให้ผลอย่างอ่อนหรือได้ผลน้อย


ค้นหาเหตุแห่งกรรมของตน
กรรมจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต รวมไปถึง การกักขังทรมาน การทำร้ายให้เกิดบาดเจ็บหรือเสียอวัยวะ การทำให้เจ็บป่วย การรบราฆ่าฟัน เป็นต้น
ผลของกรรม อายุสั้น มีโรคประจำตัว ร่างกายพิการไม่สมประกอบ เจ็บป่วยง่าย เป็นอัมพฤกหรืออัมพาต ถูกทำร้ายทรมานหรือถูกฆ่า ถูกหน่วงเหนี่ยวกักขัง เกิดอุบัติเหตุ ไปเกิดหรือใช้ชีวิตในสงคราม สถานที่รบราฆ่าฟัน ต้องเลี้ยงดูหรือมีปัญหากับผู้อื่นอยู่เสมอ สูญเสียคนใกล้ชิด
กรรมจากเรื่องทรัพย์ เช่น การลักขโมย ฉ้อโกงยักยอก เอาเปรียบ ทุจริต เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน การนำของผู้อื่นเป็นของตน ข่มขู่ทำร้ายเอาทรัพย์ ตระหนี่ถี่เหนียวใจคอคับแคบ ไม่รู้จักทำทานบริจาค การนำสิ่งผิดหรือไม่บริสุทธิ์ไปทำทานบริจาค การทำลายสิ่งของสาธารณะ เป็นต้น
ผลของกรรม   มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ลำบากขัดสน ฐานะยากจน ต้องดิ้นรนหาเช้ากินค่ำ ไม่มีโชคลาภวาสนา ของหายบ่อย เก็บเงินทรัพย์สินไม่อยู่ ถูกหลอกถูกโกง ถูกทำให้เสียทรัพย์ ไม่มีที่พึ่งในทรัพย์สินการเงิน 
กรรมจากเรื่องความรักความสัมพันธ์และเรื่องเพศกามารมณ์   เช่น การคบชู้นอกใจคนรัก การไม่รับผิดชอบสนใจหรือไม่จริงใจต่อกัน การมีความสัมพันธ์ที่ปิดบังซ่อนเร้น การชื่นชอบรักใคร่เสน่หากับผู้ที่มีคนรักแล้ว การมีความรู้สึกอิจฉาความรักของผู้อื่น การมีส่วนหรือทำให้เกิดการทะเลาะแตกแยกเลิกรา การข่มขืนอนาจาร การหมกมุ่นในเรื่องเพศและสิ่งลามกอนาจาร การตอนหรือทำร้ายอวัยวะเพศของสิ่งมีชีวิต เป็นต้น
ผลของกรรม    อกหักผิดหวังในความรัก ไม่มีใครจะจริงจังหรือสนใจด้วยกับตน มักเจอความรักซ้ำซ้อนหรือเจอแต่คนที่มีคนรักแล้ว มีคู่ครองช้าหรือได้คู่ที่ไม่ดี ความสัมพันธ์ไม่ยืดยาว ประสบปัญหาเป็นทุกข์ในความรักคู่ครอง ต้องพลัดพรากเลิกราห่างไกลหรือแตกแยก มีปัญหาในเรื่องเพศและระบบสืบพันธุ์ ตาบอดหรือมีปัญหาเรื่องสายตาและการมองเห็น เป็นบุคคลผิดเพศ
กรรมจากการโกหกหลอกลวง รวมไปถึง การบิดเบือนจากจริงเป็นเท็จหรือเท็จเป็นจริง การหยาบคาย การใส่ความใส่ร้ายป้ายสี การเหยียดหยาม การนินทา การพร่ำเพ้อหาสาระไม่ได้ การกล่าวอ้างยกตนข่มท่าน การลบหลู่ดูหมิ่น เป็นต้น
ผลของกรรม  ปากแหว่งเพดานโหว่ มีกลื่นปาก เกิดโรคในปากและฟัน ปากและฟันผิดปรกติ เป็นใบ้หูหนวก พูดไม่ชัด ไม่มีใครให้ความเคารพเชื่อถือ ถูกตำหนิติเตียนและพบสิ่งที่ไม่ดีอยู่เสมอ การเจรจาตกลงกับใครมักถูกเลื่อนหรือไม่สำเร็จ ได้รับความรู้หรือความเชื่อแบบผิดๆ  ถูกโกหกปิดบังหลอกลวง
กรรมจากสิ่งมึนเมาและสิ่งเสพติด เช่น ดื่มเหล้าสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เกี่ยวข้องกับสุราสิ่งมึนเมา เสพหรือเกี่ยวข้องกับสิ่งเสพติด เป็นต้น
ผลของกรรม  สติสัมปะชัญญะลดลง ความสามารถในการระลึกรู้ตัวเองลดลง ควบคุมตนเองไม่ได้ เป็นสาเหตุให้ก่อกรรมทำสิ่งผิดอื่นๆได้ง่ายขึ้น สติปัญญาความรู้เสื่อมถอย ความจำไม่ดี เกิดโรคเกี่ยวกับสมอง ระบบประสาท และโรคภัยจากสารพิษ
กรรมจากอารมณ์จิตใจความคิดความรู้สึก  เช่น การเคียดแค้นอาฆาตพยาบาท การเกิดความโกรธโมโหบันดาลโทสะ ความอิจฉาริษยา การเกิดความสนุกพึงพอใจเมื่อผู้อื่นเดือดร้อนหรือด้อยกว่า ลุ่มหลงมัวเมายึดติดชอบพออยู่กับสิ่งผิดหรือสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์ มีแต่ความปรารถนาอยากได้อยากมี หลีกเลี่ยงปฎิเสธที่จะยอมรับความเป็นจริง ดื้อดึงหยิ่งทระนงไม่เคารพเชื่อฟัง การห่างเหินทอดทิ้งไม่สนใจผู้อื่น การขาดสำนึกตอบแทนสิ่งมีคุณ ไม่เชื่อไม่สนใจเรื่องศาสนาและความดีความชั่ว เป็นต้น
ผลของกรรม    รูปร่างหน้าตาผิวพรรณทรามหยาบกระด้างไม่สวยงาม เกิดความสับสนวิตกกังวลคิดมาก สมาธิความตั้งใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ขาดความระวังรอบคอบ มีแต่ความฟุ้งซ่านคิดหนทางให้กับตนเองไม่ได้ รุ่มร้อนทั้งกายและใจหาความสงบได้ยาก ไม่มีใครอยากคบหาสมาคมด้วย ทำการสิ่งใดไม่ค่อยเจริญก้าวหน้า ถูกซ้ำเติมเมื่อยามมีปัญหาความลำบาก ไม่ได้อยู่อาศัยที่ใดได้นานต้องโยกย้ายเปลี่ยนถิ่นบ่อยๆ 

  


การแก้กรรมคุณทำได้
หลักสำคัญที่ใช้ในการดำเนินชีวิต
- คิดดี พูดดี ทำดี  มีบ่อยๆ สม่ำเสมอ ด้วยความศรัทธาตั้งใจและมาจากความบริสุทธิ์ ตามกำลังความสามารถที่มีของตนเอง โดยไม่หวังผลตอบแทน
- หลีกเลี่ยงละเว้นความชั่วสิ่งร้ายสิ่งผิดทุกอย่างทุกประการ
- มีอารมณ์จิตใจที่ผ่องใส คิดแต่ในสิ่งที่ดี มีสติระลึกรู้ตัวอยู่เสมอ ไม่ประมาท พิจารณาด้วยสัจธรรมความเป็นจริงว่าสรรพสิ่งล้วนมีเกิดขึ้น คงอยู่ชั่วคราว แล้วสิ้นสุดไป มีแต่ความเปลี่ยนแปลงไม่แน่นอน ไม่จีรังยั่งยืน สำนึกได้ในความผิดพลาดแล้วรู้จักปรับปรุงแก้ไข
การแก้กรรมด้วยอริยสัจสี่ หนทางการดับทุกข์
อริยสัจ แปลว่า ความจริงอันประเสริฐ หนทางสู่การเป็นผู้ประเสริฐ ประกอบด้วยหลักสี่ประการ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
ทุกข์ หมายถึง สภาพที่ทนได้ยาก สิ่งที่ไม่สามารถอยู่สภาพเดิมได้ การเป็นเหตุให้เกิดความลำบากเดือดร้อน การมีความรู้สึกไม่สบายกายไม่สบายใจ การนำให้เกิดปัญหาในการดำรงชีวิต แบ่งเป็นสองลักษณะ คือ
สภาวทุกข์ หมายถึง ทุกข์ประจำ ทุกข์ที่เกิดจากธรรมชาติ เช่น การเกิด การแก่ชรา การเจ็บไข้ได้ป่วย การตายมรณะสูญสิ้น ความหิว ความรู้สึกร้อนหนาว ความต้องการขับถ่าย เป็นต้น
ปกิณณกทุกข์ หมายถึง ทุกข์จร ทุกข์ที่เกิดจากเหตุการณ์สิ่งแวดล้อมมากระทำส่งผล ทุกข์จากอารมณ์ความรู้สึกชั่วขณะ เช่น ความโกรธไม่พึงพอใจ ความรู้สึกไม่ชอบใจ ความลำบากขัดสน ความเศร้าโศกเสียใจ ความอึดอัดเคร่งเครียด เป็นต้น
สมุทัย หมายถึง สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ สิ่งที่นำมาให้ต้องเป็นทุกข์ ประกอบด้วย
๑.ตัณหา หรือ โลภะ แปลว่า ความอยาก มี ๓ ลักษณะ คือ
กามตัณหา คือ ความอยากในกาม ความใคร่ต้องการในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส
ภวตัณหา คือ ความอยากได้อยากเป็นในสิ่งต่างๆ การเกิดความต้องการที่มากขึ้นสูงขึ้น
วิภวตัณหา คือ ความปฏิเสธไม่อยากได้ไม่อยากมี ความไม่ต้องการให้สิ่งนั้นสิ่งนี้เกิดขึ้น
๒.โทสะ แปลว่า ความโกรธเคือง ความรู้สึกไม่พอใจ การเกิดความไม่ชอบใจ การมีความคับแค้นใจ
๓.โมหะ แปลว่า ความหลงใหลยึดติด ความเขลา ความไม่รู้ การมีความคิดเห็นที่ผิด ความเข้าใจในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ความฟุ้งซ่าน 
นิโรธ หมายถึง การดับทุกข์ การระงับเหตุต่างๆที่ทำให้เกิดทุกข์ ผลของการหมดไปในเรื่องทุกข์
มรรค หมายถึง วิธีการหนทางสู่การดับทุกข์ แนวปฏิบัติเพื่อนำไปสู่การละซึ่งเหตุแห่งทุกข์ มีทั้งหมด ๘ ข้อ โดยมีรายละเอียดดังนี้          
๑. สัมมาทิฎฐิ คือ ปัญญาชอบ เป็นการพิจารณาและปฎิบัติทุกสิ่งด้วยสติปัญญาความถูกต้องชัดเจนเห็นจริง
๒. สัมมาสังกัปปะ คือ ดำริชอบ เป็นการใช้ความคิดพิจารณาในทางสร้างสรรค์ดีงาม
๓. สัมมาวาจา คือ วาจาชอบ เป็นการพูดจาในทางสุภาพ พูดในสิ่งที่ถูกต้องและสร้างสรรค์มีประโยชน์
๔. สัมมากัมมันตะ คือ คือ ประพฤติชอบ เป็นการมีนิสัยความประพฤตที่ถูกที่ควร วางตัวเหมาะสม กระทำในสิ่งดี
๕. สัมมาอาชีวะ คือ การงานชอบ มีอาชีพที่ถูกต้องสุจริตในการหาเลี้ยงตน ไม่คดโกงเอาเปรียบ หรือคิดเอากำไรเกินควร
๖. สัมมาวายามะ คือ ความเพียรชอบ มีความอุตสาหะพยายามตั้งใจในความคิดและกระทำสิ่งดี 
๗. สัมมาสติ คือ ระลึกชอบ สามารถระลึกได้รู้ตัวเป็นปรกติอยู่เสมอ ไม่ประมาท ไม่สับสนฟุ้งซ่าน 
๘. สัมมาสมาธิ คือ ตั้งจิตชอบ เป็นการควบคุมฝึกจิตใจและสมาธิให้อยู่ในความสงบ ไม่หวั่นไหวต่อสิ่งเร้า
การแก้กรรมด้วยทาน ศีล ภาวนา    
ทาน หมายถึง การให้ การบริจาค การแบ่งปัน การสละสิ่งที่มีหรือกระทำเพื่อช่วยเหลือประโยชน์สุขของผู้อื่นด้วยความตั้งใจโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน และการให้ทานต้องมาจากความถูกต้องสุจริตของตน  
ประเภทของทาน
อามิสทาน การให้วัตถุเป็นทาน  เช่น เงินทองของมีค่า อาหาร เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค วัสดุอุปกรณ์ต่างๆทั้งหลาย เป็นต้น
ผลของการให้ทรัพย์เป็นทาน มีทรัพย์สินรายได้ บังเกิดโชคลาภ ฐานะความเป็นอยู่ที่ดี มีกินมีใช้
วิทยาทาน  การให้ความรู้เป็นทาน เช่น การแนะนำอบรมสั่งสอนให้วิชาการความรู้ การบอกกล่าวในสิ่งที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ เพื่อให้เกิดความเข้าใจและนำไปใช้ได้ต่อไป
ผลของการให้ความรู้เป็นทาน  เกิดสติปัญญาความรู้ความสามารถ มีความเฉลียวฉลาด รอบรู้ในวิชาการศึกษาต่างๆได้ดี สำเร็จในการเรียนการศึกษา
ธรรมทาน การให้ธรรมเป็นทาน เช่น การพิมพ์แจกจ่ายหนังสือธรรมะหรือบทสวดมนต์ การเผยแพร่ศาสนา อบรมแนะนำผู้อื่นให้เป็นคนดี เป็นต้น
ผลของการให้ธรรมเป็นทาน ร่มเย็นเป็นสุขทั้งกายใจ บั่นทอนลดกรรมจากเจ้ากรรมนายเวร จิตมีความตั้งมั่นในบุญกุศลการทำดีมากขึ้น
อภัยทาน การให้อภัยเป็นทาน เช่น การไม่ถือโทษโกรธเคือง ไม่พยาบาทอาฆาตแค้นผูกใจเจ็บ การไม่เอาเรื่องราวให้เป็นปัญหาบานปลาย การไม่คิดเป็นอริศัตรู เป็นต้น
ผลของการให้อภัยเป็นทาน รายล้อมไปด้วยเพื่อนมิตรสหาย มีแต่สังคมผู้คนที่ดี ไม่มีอริศัตรูผู้ปองร้าย ผู้คนรักใคร่ชื่นชอบ
มหาทาน เช่น การให้ทานด้วยเวลาและแรงกายของตน การให้ทานด้วยเลือด อวัยวะ และชีวิตของตน การให้ทานด้วยบุตรหรือคนรักของตน การให้ชีวิตผู้อื่น เป็นต้น
ผลของมหาทาน อายุยืน สุขภาพแข็งแรง ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ร่างกายสมบูรณ์ เมื่อประสบอุปสรรคปัญหามักได้รับการช่วยเหลือ แคล้วคลาดปลอดภัย มีผู้ยกย่องสรรเสริญ

ศีล หมายถึง ความเป็นปรกติ สิ่งที่ละเว้นจากความชั่ว เป็นข้อปฏิบัติตนเพื่อควบคุมกายวาจาและใจให้อยู่ในความปรกติสุข เป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องรักษาและทำตามเพื่อความเป็นผู้ประเสริฐ
ประเภทของศีลในระดับพื้นฐานของบุคคลทั่วไป
ละเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต  รวมถึง การไม่ทำร้ายเบียดเบียนสิ่งมีชีวิต การไม่บั่นทอนชีวิต การไม่ทำให้เกิดการบาดเจ็บสูญเสียอวัยวะหรือความผิดปรกติในร่างกาย การไม่ทรมานให้เกิดทุกข์เข็ญ
ผลจากการถือศีลละเว้นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต อายุยืน สุขภาพดีแข็งแรงไม่เจ็บป่วยง่าย ไม่เกิดโรคภัยเบียดเบียน ไม่ถูกฆ่าหรือถูกทำร้ายให้บาดเจ็บ มีแต่ความสงบสุขและเป็นมิตร ไม่ค่อยมีปัญหากับใคร ร่างกายสมบูรณ์ครบถ้วน
ละเว้นจากการทำผิดในทรัพย์ เช่น การไม่ลักลอบขโมยฉกชิงสิ่งของ การไม่เอาเปรียบหวังผลประโยชน์ส่วนตน การไม่แอบอ้างเอาของผู้อื่นมาเป็นของตน การไม่ข่มขู่กรรโชกทำร้ายเพื่อหวังเอาทรัพย์ การไม่ตระหนี่ถี่เหนียวในการบริจาคทำบุญกุศล
ผลจากการละเว้นทำผิดในทรัพย์ เก็บรักษาทรัพย์สินเงินทองได้ยาวนานอยู่กับตนมากขึ้น ไม่เกิดการสูญหายของทรัพย์สินและผลประโยชน์ มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีสุขสบาย ไม่เกิดปัญหาติดขัดลำบากยากจนในชีวิต
ละเว้นจากการทำผิดในกาม เช่น การมีความซื่อสัตย์จริงใจในคู่ครองความรักของตน การไม่คบชู้นอกใจมีผู้อื่นนอกจากคนรักของตน การไม่กระทำชำเราข่มขืนอนาจาร การไม่สำส่อนในกามประเวณี ละเว้นจากสื่อสิ่งลามก ไม่หมกมุ่นคิดแต่ในเรื่องเพศความรักใคร่และความสวยความงาม
ผลจากการละเว้นการทำผิดในกาม พบเจอคู่ครองที่ดี มีความรักความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน มีความรักความสัมพันธ์ที่เป็นสุข ไม่เป็นผู้ที่ผิดเพศ เกิดความสมบูรณ์ปรกติในเรื่องเพศและระบบสืบพันธุ์ ไม่ไร้คู่หรือมีคู่ครองล่าช้าเกินวัย ไม่มีโรคจากเพศสัมพันธ์ ไม่ถูกข่มขืนฝืนใจทำอนาจาร ไม่เกิดความผิดปรกติของสายตาและการมองเห็น
ละเว้นจากการโกหกหลอกลวง  รวมถึง การไม่ปกปิดความจริง ไม่กล่าวอ้างบิดเบือนจากจริงเป็นเท็จจากเท็จเป็นจริง การไม่นินทาใส่ร้ายป้ายสี การไม่หยาบคายส่อเสียดเหยียดหยาม การไม่ข่มเหงรังแก การไม่ลบหลู่ดูหมิ่น การเผยแพร่บอกกล่าวสาระความเป็นจริง การเสนอสิ่งที่มีประโยชน์
ผลจากการละเว้นการโกหกหลอกลวง เป็นผู้มีวาจาสิทธิ์พูดสิ่งใดมักเป็นจริง มีแต่ผู้ยอมรับเชื่อถือในคำพูด ไม่มีกลิ่นปาก ไม่เกิดโรคหรือความผิดปรกติในปากและฟัน พูดจาไม่ติดขัด ไม่เป็นใบ้หูหนวก ไม่ถูกกล่าวหาพูดจาว่าร้าย เจรจาตกลงกับใครมักสำเร็จ ได้รับแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์และมีความถูกต้อง ไม่ถูกใครล่อลวง
ละเว้นจากสิ่งมึนเมาและสิ่งเสพติด เช่น ไม่ดื่มเหล้าเบียร์สุราสิ่งมึนเมา ไม่เสพไม่ขายสิ่งเสพติด ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งมึนเมาและสิ่งเสพติด
ผลจากการละเว้นสิ่งมึนเมาและสิ่งเสพติด  มีสติปัญญาครบถ้วนเฉลียวฉลาด ไม่เป็นโรคหรือมีความผิดปรกติในสมองและความจำ สามารถระลึกรู้ตัวอยู่เสมอไม่เป็นผู้ประมาท ควบคุมตนเองและอารมณ์ได้ดี  ไม่มีโรคภัยจากสารพิษ


ภาวนา หมายถึง การทำจิตให้สงบและทำปัญญาให้เกิดขึ้นด้วยการฝึกฝนอบรมจิตในลักษณะรูปแบบต่างๆ เช่น สวดมนต์ ทำสมาธิ ศึกษาธรรม พิจารณาอาการต่างๆ เป็นต้น
ลักษณะประเภทของภาวนา
๑.สมถภาวนา(การทำสมาธิ) คือการทำจิตให้เกิดสมาธิหรือเป็นฌาน ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งซ่านคล้อยตามไปยังอารมณ์อื่นหรือสิ่งอื่นๆ ซึ่งหนทางปฏิบัติและฝึกสมถภาวนานั้นมีอยู่มากมาย ขึ้นอยู่กับบุคคลนั้นจะถนัดในลักษณะแบบไหน โดยสามารถแบ่งรูปแบบการฝึกสมถภาวนา หรือสมาธิได้ดังนี้
สวดมนต์ภาวนา การบริกรรมคาถาเจริญพุทธมนต์นั้นจะทำให้จิตจดจ่ออยู่กับบทสวดจนเกิดความสงบ หากมีความตั้งใจจริงแม้จะเป็นบทที่ยาวหรือยากสักเพียงใดก็สามารถท่องจำได้จนจบ คุณสามารถที่จะสวดมนต์ภาวนาได้ทุกที่ทุกเวลายามต้องการ จะนั่งนอนยืนเดิน จะเปล่งเสียงออกมาหรือท่องในใจล้วนทำได้หมด ไม่จำเป็นว่าจะต้องทำเมื่อมีการไหว้พระเสมอไป แค่เพียงมีความศรัทธาตั้งใจจริง เมื่อสวดมนต์ขอให้นึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เท่านี้คุณก็ได้ระลึกถึงพระรัตนตรัยและเกิดบุญกุศลแล้ว
อานาปานสติ คือการกำหนดรู้ในลมหายใจ อารมณ์ และกิริยาบถต่างๆของตน โดยทั่วไปมักใช้วิธีการเดินจงกรม หรือนั่งสมาธิเพื่อให้ง่ายในการฝึกอานาปานสติ แต่จริงๆแล้วเราสามารถเกิดอานาปานสติได้ในทุกที่ทุกเวลาและทุกขณะ แค่เพียงให้จิตกำหนดรู้ในลมหายใจที่เข้าออก เมื่อเกิดอารมณ์ความรู้สึกอะไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นสุขหรือทุกข์ก็รู้ตัว ควบคุมจิตได้ไม่ให้อ่อนไหวไปตามความรู้สึกนั้น
๒.วิปัสสนาภาวนา(การเจริญปัญญา) คือการใช้ความคิดเหตุผลในการนำจิตพิจารณาจนรู้แจ้งเห็นจริงว่าอันสภาวะทั้งหลายนั้นล้วนมีอาการพระไตรลักษณ์ หรือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ซึ่งอธิบายดังนี้คือ
อนิจจัง หมายถึง ความไม่เที่ยงแท้แน่นอน เมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับว่าช้าหรือเร็วเท่านั้น ไม่อาจอยู่ในสภาพเดิมได้ 
ทุกขัง หมายถึง สภาพที่ไม่ทนอยู่แบบเดิมได้ การที่ไม่สามารถอยู่สภาพนั้นได้ตลอดไป สิ่งที่ไม่อาจทรงตัวคงอยู่เหมือนเดิมได้อย่างถาวรยั่งยืน 
อนัตตา หมายถึง ความไม่ใช่ตัวตน การไม่ใช่ของตน ไม่มีสิ่งใดที่เป็นของตนหรือของผู้ใด สรรพสิ่งทั้งหลายเกิดจากปัจจัยก่อตัวขึ้นมา เมื่อถึงการเสื่อมสลายย่อมกลับคืนสู่สภาพเดิม
วิธีการหนทางสู่วิปัสสนาภาวนาหรือการเจริญปัญญามีดังนี้ คือ
มีจิตใคร่ครวญถึงมรณานุสสติกรรมฐาน เป็นการใคร่ครวญความตายเป็นอารมณ์ อันความมรณะนั้นไม่มีใครเอาชนะได้ ความตายสามารถเกิดขึ้นได้ทุกขณะ การระลึกถึงความตายเป็นการเตือนสติว่าให้รีบพากเพียรทำสิ่งที่ดีก่อนที่ความตายจะมาถึง ไม่ประมาทในการดำรงชีวิต ยอมรับได้ปลงได้กับการสิ้นสุด
มีจิตใคร่ครวญถึงอสุภกรรมฐาน เป็นการใคร่ครวญในสิ่งที่ไม่สวยไม่งาม เป็นการพิจารณาเพื่อให้เห็นความจริงว่า สรรพสิ่งล้วนมีความเสื่อมถอยเสื่อมโทรม ไม่มีสิ่งใดที่น่าหลงใหลใคร่ดูให้น่ายึดติด ไม่มีความสวยงาม ล้วนแล้วแต่สลายผุพังไปเป็นธรรมดา เพื่อเป็นการละกิเลสตัณหาราคะออกไป
มีจิตใคร่ครวญถึงกายคตานุสสติกรรมฐาน เป็นการพิจารณาถึงสภาพความเป็นจริงขององค์ประกอบในร่างกาย ว่าไม่แท้จริงไม่ยั่งยืน ล้วนแล้วแต่ไม่สวยงาม ไม่คงทนถาวร มีแต่อวัยวะเนื้อหนังและกระดูก ไม่มองแต่สิ่งที่เป็นรูปลักษณ์ภายนอก แต่มองให้ละเอียดลึกซึ้งถึงสิ่งที่อยู่ข้างใน
มีจิตใคร่ครวญถึงธาตุกรรมฐาน เป็นการใคร่ครวญว่าสรรพสิ่งทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นต้วเราก็ดี หรือสิ่งอื่นก็ดี ล้วนแล้วแต่เกิดจากธาตุต่างๆเป็นองค์ประกอบปัจจัย นานไปธาตุต่างๆเหล่านั้นย่อมมีการเสื่อมสลายแล้วกลับคืนสู่สภาพเดิม หาใช่ตัวตนของเรา หรือเป็นของสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ ไม่มีประโยชน์อันใดที่จะยึดมั่นถือมั่นเอาไว้
ผลของภาวนา เกิดความสงบทั้งกายและใจ ไม่ฟุ้งซ่าน มีสติและเกิดความรอบคอบ ไม่คิดฝักใฝ่ยินดีในด้านร้ายด้านเสื่อม เป็นหนทางสู่การดับทุกข์หลุดพ้น เมื่อสิ้นชีวิตจะได้ไปอยู่ในสวรรค์ภพภูมิที่ดี   


ผู้ที่คิดดี พูดดี ทำดี ย่อมได้รับแต่สิ่งที่ดี     

1 ความคิดเห็น: